top of page

สาเหตุของการศึกษาไทยที่ขาดประสิทธิภาพ

           ตัวบ่งชี้ว่าการศึกษาไทยมีปัญหา

 

            สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาของการศึกษาเมื่อทราบผลการจัดอันดับของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ซึ่งจัดลำดับผลการศึกษาออกมาในรายงาน " The Global Competitiveness Report 2013-2014" ว่าการศึกษาประจำปี 2012 - 2013 ที่ผ่านมานั้น การศึกษาของ ไทยตกไปอยู่ในลำดับที่ 8 ของอาเซียน โดยเรียงลำดับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนไว้ดังนี้คือ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเชีย 3) บรูไน 4) อินโดนิเชีย 5) ฟิลิปปินส์ 6) ลาว 7) กัมพูชา 8) ไทย และ 9) เวียดนาม จากผลการจัดอันดับ ดังกล่าว จึงทำให้เป็นที่สงสัยกันว่าทำไมการศึกษาไทยจึงล้าหลังกว่าใครเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพ้ ฟิลิปปินส์ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยอยู่มากมาย, แพ้ประเทศลาวที่อยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยของเรา รวมถึงแพ้กัมพูชาที่เพิ่งฟื้นจากภาวะสงครามอีกด้วย ความสงสัยดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งภายนอกและภายในแวดวงของการศึกษาของไทย นอกจากผลการจัดลำดับการศึกษาของ WEF ดังกล่าวแล้วนั้น ยังพบอีกด้วยว่าที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาของไทยยังไม่เป็นที่พอใจของสังคม โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักของ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (O-Net) อันได้แก่วิชาภาษาอังกฤษ, วิชาคณิตศาสตร์, วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาสังคมศาสตร์ที่เด็กในวัยเรียนของไทยเราทำค่าเฉลี่ยได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจากผลการสอบ ในปีการศึกษา 2553 พบว่าคะแนนเฉลี่ยในทุกระดับชั้นของวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ลดลง จากปีการศึกษา 2552 และมาตรฐานความสามารถในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มี วิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ ยังได้คะแนนต่ำอีก สำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในวิชา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) ในปี2550 พบว่าประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 441 คะแนนและวิชาวิทยาศาสตร์471 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนานาชาติ การประเมินนี้เป็นการประเมิน อย่างต่อเนื่องทุก ๆ 4 ปี  

สาเหตุของการศึกษาไทยที่ขาดประสิทธิภาพ

                 การศึกษาในปัจจุบันมีปัญหา จึงทำให้เกิดวิกฤตทางปัญญา แล้วพาให้เกิดวิกฤตชาติ การแก้วิกฤตต้องทำหลายอย่าง  รวมทั้งการรักษาด้วยยุทธศาสตร์ทางปัญญา และการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางปัญญาโดยรอบด้านโดยเร็ว การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ และประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา คือ การบริหารจัดการศึกษาขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ในปัจจุบันมีการบริหารรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง, มีการจัดองค์กรซ้ำซ้อน ไม่มีเอกภาพด้านนโยบาย และมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่ำ, ขาดการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม, จึงไม่ได้คนดีคนเก่งมาเป็นครู, สังคมขาดศรัทธาและความเชื่อมั่นในวิชาชีพครู, ขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง, ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และขาดความเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

                การเข้ารับการศึกษาไม่กว้างขวาง ไม่ทั่วถึง และไม่เป็นธรรม, เกิดความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเข้ารับการศึกษา และคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาขึ้น รวมถึงการเรียนการสอนไม่ได้เน้นความสามารถสากลเท่าที่ควร ขาดการอบรมบ่มนิสัย ไม่ได้ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและภูมิปัญญาไทยอย่างเพียงพอ ทั้งนี้เพราะคุณภาพครูส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน และหลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผลผู้เรียน เน้นวิชาและครูเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียน, การเรียนการสอนไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เน้นการท่องจำ แต่ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้เด็กนักเรียนสมัยใหม่คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่เป็น รวมทั้งการศึกษาแปลกแยกจากสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม การศึกษาที่จัดอยู่ในปัจจุบันเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน ไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในสังคม อีกทั้งการศึกษาขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกับด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมเข้าไว้ในกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาอ่อนด้อยทางคุณภาพ และจริยธรรม และขาดความภูมิใจในศิลปะ และภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ และความมั่นคงสถาพรของชาติไทย

                 

                  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542  เป็นต้นมา  ถือได้ว่าเป็นกฎหมายแม่บท ที่เป็นเสมือนธรรมนูญการศึกษาของประเทศ, กล่าวคือ การจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ทุกรูปแบบต้องดำเนินการโดยยึดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เป็นหลัก  พระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษา เพราะได้กำหนดประเด็นเรื่องสำคัญครอบคลุมการศึกษา ทั้งระบบที่ต้องปฏิรูปและกำหนดเงื่อนเวลาด้วย เช่น เรื่องส่วนใหญ่จะต้องปฏิบัติ 3 ปี คือ ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2545, บางเรื่องก็ให้เวลามากกว่านั้น คือ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาจากภายนอก ซึ่งให้เวลาไว้ถึง 6 ปี. ในการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบไว้ด้วย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  และองค์การมหาชนเฉพาะกิจ

                  ในเรื่องสาระที่สำคัญต้องถือว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ใน หมวด 4  ที่เป็นหัวใจการปฏิรูปการศึกษา  เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ แต่จะทำเฉพาะปฏิรูปการเรียนรู้ ก็จะไม่บังเกิดผลเท่าที่ควรจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันกับการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยเฉพาะการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การประกันคุณภาพสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา และปฏิรูปครู และบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิรูปการเรียนเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ และได้ผลยั่งยืน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปทรัพยากร และการลงทุนทางการศึกษา และการปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารการจัดการศึกษา  เพื่อมุ่งเน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มุ่งผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นคนไทยที่มีคุณภาพและคุณธรรมเข้มแข็ง และแข่งขันได้

ปัญหาการจัดการเรียนการสอน  เป็นส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของครู  ซึ่งหากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าปัจจุบันครูมีปัญหาหลักใน 3 ด้าน คือ เรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน   การมีหนี้สินล้นพ้นตัว  และภาวะการขาดแคลนครูสะสม โดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญ  โดยสรุปรายละเอียดของประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไข  ดังนี้

            ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำคนเก่ง คนดี มีความรู้เข้าสู่วิชาชีพครู โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่เก่งที่สุดของแต่ละจังหวัดให้เข้ารับทุนเพื่อเรียนต่อด้านการฝึกหัดครู ดังนั้นครูในยุคนั้นจึงเป็นคนเก่งของประเทศ และมักประสบความสำเร็จทั้งในด้านการพัฒนานักเรียนและชีวิตส่วนตัว 

             ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีความต้องการครูสูงขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งผลิตครูมากขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยปราศจากการวางแผนที่เหมาะสม ถึงกับสถาบันฝึกหัดครูทุกแห่งต่างเปิดสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบอย่างแพร่หลาย   ด้วยเหตุนี้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาครูจึงมีจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดแรงงานส่งผลให้ตกงานในที่สุด ดังนั้นเด็กรุ่นต่อมาจึงไม่เลือกเรียนครูหรือเลือกเป็นลำดับสุดท้ายเนื่องจากไม่มั่นใจในโอกาสที่จะได้งานทำ จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่านักเรียนที่เรียนอะไรไม่ได้ จึงเข้าเรียนครูทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกต่ำลงมาก ​ 

          นอกจากนี้ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาครูไม่มีคุณภาพว่ามิได้เกิดจากระบบไม่ดี หากเกิดจากการที่ครูขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ไม่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง รวมถึงยังขาดการจัดการความรู้ที่ดีและมิได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้ความรู้ในหลักสูตรและในหนังสือที่ประมวลมาสอนเด็กคิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด แต่ความรู้ส่วนใหญ่หรืออีกร้อยละ 80 กลับถูกละเลยได้แก่ความรู้ของครูที่เกษียณอายุไป เพราะที่จริงแล้วครูเหล่านี้มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ฝังลึก กระทรวงศึกษาธิการจึงควรนำครูดังกล่าวมาถอดแบบความรู้เพื่อที่คนทั้งสองรุ่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จร่วมกันและนำไปต่อยอดเพื่อสร้างคุณภาพเพิ่มแก่เยาชนในอนาคตได้ 

            ปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยเฉลี่ยมีหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน  มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้ครูอุทิศตนต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนของผู้เรียนลดลง

           ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกค) เมื่อต้นปี 2550 พบว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน (สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการอาทิการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน นโยบายของรัฐในการจำกัดกำลังคนภาครัฐและการคืนอัตรากำลังทดแทนขาดดุลยภาพ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด การกำหนดเกณฑ์การคืนอัตรากำลังของสำนักงานข้าราชการครู ฯ กับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังคนภาครัฐไม่ตรงกัน รวมถึงนโยบายการเกลี่ยอัตรากำลังครูไม่ได้ผล ฯลฯ ทำให้ครูแต่ละคนต้องทำงานหนัก มีเวลาในการเตรียมการสอนและถ่ายทอดความรู้ไม่เพียงพอ และบางครั้งทำให้ครูไม่มีโอกาสเข้ารับการพัฒนาอย่างเต็มที่ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของไทย ตกต่ำลง 

bottom of page